อสังหาปีนี้ติดลบ10% ลุ้นศก.-การเมืองสงบ หนุนปีหน้ากลับมาโต

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชี้สัญญาณบวกตลาดฟื้นตัวปี 64 รับความเชื่อมั่นผู้บริโภคไต่ระดับ ผนวกแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อานิสงส์ “ดอกเบี้ยต่ำ” พร้อมกลยุทธ์ราคาด้านโครงการใหม่เปิดตัวลดลงเหลือ 7.1 หมื่นหน่วย ด้านคอนโดวูบ 50% สวนทาง “แนวราบ”

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 มีปัจจัยบวกที่เพิ่มเข้ามาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และการปรับตัวของผู้ประกอบการ โดยคาดการณ์ว่าปีหน้าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 353,236 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 876,121 ล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 383,272 หน่วยคิดเป็น มูลค่าสูงสุดไม่เกิน 950,591 ล้านบาท

ส่วนโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปีหน้า คาดว่าจะเพิ่มเป็น 88,828-102,151หน่วย คิดเป็นมูลค่า 400,306 ล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 102,151 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 448,559 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.3% และสูงสุด 42.9% ทั้งนี้เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563 โดยสัดส่วนของโครงการบ้านจัดสรรจะมีจำนวนประมาณ 44,069 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 286,463 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 58.6 % ส่วนอาคารชุดจะมีจำนวนประมาณ 36,784 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 113,843 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 41.4 % ของโครงการที่จะเปิดใหม่ทั้งหมดในตลาด มีจำนวน 36,784 หน่วย มูลค่า 1.13 แสนล้านบาท

“แนวโน้มดีมานด์และซัพพลายในปี 2564 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ของปีนี้พร้อมปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ดังนั้น ดีเวลลอปเปอร์ต้องโฟกัสทำเล ราคาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ และกำลังซื้อกลุ่มลูกค้า แต่ตลาดยังคงมี ปัจจัยลบ คือการปฏิเสธสินค้าของสถาบันการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากกังวลเรื่องหนี้เสียจากกำลังซื้อที่ลดลง รวมถึงปัจจัยทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอน”

ปีหน้าภาพรวมความมั่นใจและกำลังซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลาง-บน ระดับราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป มีโอกาสที่การโอนที่อยู่อาศัยจะปรับตัวขึ้นไปใกล้เคียงปี 2561 หรือ2562 ที่มีจำนวนหน่วยที่โอนกว่า 400,000 ยูนิต มีมูลค่ารวมทะลุ 900,000 ล้านบาท โดยพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย จะเป็นตลาดแนวราบ โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ และบ้านแฝด ที่มีระดับราคา 2-5 ล้านบาทเป็นหลัก

การเปิดโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2564 มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการต่างๆจะกลับมาเปิดโครงการใหม่มากขึ้น โดยเน้นไปที่โครงการแนวราบ คาดว่า จะมีโครงการใหม่เปิดเพิ่ม 88,828 หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 102,151 หน่วย มูลค่า 4.48 แสนล้านบาทเติบโต 24.3-42.9% จากปี 63 ที่ถือเป็นปีฐานที่ต่ำhttps://58f792ea81209809a924aded4a3c3c23.safeframe.googlesyndication.com/safeframe/1-0-37/html/container.html

 ไตรมาส 3 ขยายตัวเกินคาด 17.1%

สำหรับ การสำรวจยอดการโอนกรรมสิทธ์อยู่อาศัยของไตรมาส 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 93,230 หน่วย มูลค่า 246,066 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 17.1% เกินคาดหมาย ส่งผลให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสะสม 9 เดือน มีจำนวนทั้งสิ้น 261,855 หน่วย มูลค่า 668,936 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อน -7.9% ซึ่งอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี

โดยพบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบ 180,322 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 458,280 ล้านบาท ปรับตัว “ลดลง” จากปีก่อนหน้า 6.1% ขณะที่อาคารชุดมีจำนวนทั้งสิ้น 81,533 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 210,656 ล้านบาท ปรับตัว “ลดลง” จากปีก่อนหน้า 11.6% ทั้งนี้ อัตรา “ติดลบ” น้อยลง ถือเป็นสัญญาณบวกในด้านดีมานด์ที่มีการปรับเข้าสู่สถานการณ์ตลาดที่ดีขึ้น

 ยอดโอนเพิ่มสะท้อนดีมานด์ยังมี

ทั้งนี้ การโอนกรรมสิทธิ์ประเภทบ้านใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 131,303 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 425,134 ล้านบาท ปรับตัว “ลดลง” จากปีก่อนหน้า 5.5% และบ้านมือสองจำนวนทั้งสิ้น 130,552 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 243,802 ล้านบาท ปรับตัว “ลดลง” จากปีก่อนหน้า 10.2% เมื่อพิจารณาในระดับราคาพบว่า แนวราบในระดับราคา 2.01-3 ล้านบาทมีการโอนกรรมสิทธิ์จำนวนสูงสุด 43,335 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 24 % ของการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 31.3%

ขณะที่อาคารชุดระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทมีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์สูงสุดจำนวน 25,840 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 31.7% ของการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมด แต่เป็นการโอนที่มีอัตรา “ลดลง” เมื่อเทียบปีก่อนหน้า 17.6% โดยกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดคือระดับราคา 7.51-10 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว 6.1%

โครงการใหม่เปิดตัวลดลง

นายวิชัย กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงจุดต่ำสุดของตลาด ทำให้ภาพรวมของตลาดในปีนี้ยังน่าจะติดลบถึง 10% และแนวโน้มจะมีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประมาณ 351,640 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 862,500 ล้านบาท โดยมีการปรับตัวลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า-10.3%และ -7.3 %ตามลำดับ ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ “ลดลง” ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 พบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยอดสะสม 9 เดือน พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 50,781 หน่วย มูลค่า 228,949 ล้านบาท มีการปรับตัวลดลง20.9 % ซึ่งเป็นการลดลงของโครงการอาคารชุดถึง -41.8 % ขณะที่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น3.5 %โดยแยกเป็นประเภทอาคารชุด 20,089 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 39.6 %ทาวน์เฮ้าส์ 19,802หน่วยคิดเป็น 39% บ้านเดี่ยว 5,784หน่วย คิดเป็น 11.4% บ้านแฝดจำนวน 4,709 หน่วย คิดเป็น 9.3% และอาคารพาณิชย์ 397 หน่วยคิดเป็น 0.8%

ส่วนทำเลที่มีโครงการเปิดตัวใหม่สะสมมากสุดช่วง 9 เดือนแรก ใน5 ทำเล ได้แก่ 1.ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ จำนวน 6,153 หน่วย 2.เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก จำนวน 4,677 หน่วย 3.บางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 4,210 หน่วย 4.เมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 3,799 หน่วย และ 5.บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง จำนวน 3,495 หน่วย โดยกลุ่มราคาที่มีการเปิดตัวใหม่สูงสุดคือระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท มีจำนวนถึง 17,557 หน่วย คิดเป็น 34.6 % ของหน่วยที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด

ปีนี้ ประมาณการโครงการเปิดตัวใหม่ทั่วประเทศอยู่ที่ 71,467 หน่วยลดลงจากปีก่อน 27.3 % ซึ่งเป็นการ “ลดลง” ของโครงการอาคารชุดถึง 50% ขณะที่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น 1.4%

ขอบคุณที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/908533

คุณอาจสนใจ

ค้นหาทรัพย์